Spread the love

Main Points

 

  • สินเชื่อบ้านคือเงินกู้ที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้สำหรับคนที่ต้องการนำเงินไปซื้อบ้าน โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา และอัตราดอกเบี้ยแบบผสม
  • ก่อนจะกู้ซื้อบ้านควรคำนวณดอกเบี้ยบ้าน เพื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน รวมถึงต้องสอบถามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร หรือสถาบันการเงินด้วย เพราะว่าข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

สำหรับใครที่กำลังสนใจสินเชื่อ เพื่อการอยู่อาศัย หรือสำหรับการลงทุน จำเป็นจะต้องรู้จักกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้ดีก่อน เนื่องจากจะทำให้สามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนดอกเบี้ยได้ไม่น้อย ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำประเภทต่างๆ ของอัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณ และข้อควรรู้ต่างๆ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้อย่างละเอียด และรอบคอบมากที่สุด

 

 

รู้จักกับสินเชื่อบ้านในเบื้องต้นก่อนทำเรื่องกู้ซื้อบ้านใหม่

การพิจารณาสินเชื่อบ้าน

 

สินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือ เงินกู้ที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้สำหรับบุคคลที่ต้องการเงินก้อนใหญ่เพื่อนำไปซื้อบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม คอนโด หรือที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ แต่จะได้วงเงินเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินมูลค่าของที่อยู่อาศัย ไปจนถึงคุณสมบัติของผู้กู้ด้วย

 

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงิน ก็จะต้องมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยบ้านด้วย โดยผู้กู้จะต้องชำระเงินคืนให้ธนาคารเป็นงวดๆ เป็นระยะเวลานาน 10 – 40 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และเงื่อนไขที่ทางธนาคารกำหนด

 

ก่อนจะไปดูเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยบ้าน เราควรรู้จักกับดอกเบี้ยบ้านประเภทต่างๆ ก่อนว่ามีแบบไหนที่ควรรู้จัก เพื่อให้คนที่อยากจะกู้เงินซื้อบ้าน วางแผนการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 

 

ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

ถ้าหากต้องการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี คือ อัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน หรืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะจะช่วยให้ผู้กู้วางแผนการเงินได้อย่างละเอียดรอบคอบ และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

 

1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Loan)

ดอกเบี้ยบ้าน

 

 

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่กำหนดไว้ให้คงที่ตลอด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ตายตัวเท่าเดิมตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่ได้ตกลงกับธนาคารเอาไว้ เช่น ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นเวลา 3 ปี 5 ปี หรือตลอดอายุสัญญา โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ยังสามารถแบ่งได้อีก 3 ประเภทย่อย ดังนี้

 

  • ดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ เป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยเท่าเดิมตลอดระยะเวลาอายุของสัญญากู้ยืมเงิน โดยจะไม่ปรับตัวขึ้นหรือลดลง ทำให้ผู้กู้สามารถชำระเงินแต่ละงวดเท่ากันได้ทุกเดือน และระบุระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระได้ชัดเจน
  • ดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรกเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยจะถูกตรึงเอาไว้ให้คงที่ในช่วงแรกของการผ่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1-5 ปีแรก และหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นลอยตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน
  • ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดให้คงที่เป็นช่วงๆ และปรับขึ้นทีละขั้น เช่น ดอกเบี้ยปีแรก 2.30% ปีที่สอง 3.55% ปีที่สาม 4.50% แล้วหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นลอยตัว

 

2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Loan)

อัตราดอกเบี้ย

 

อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้มีค่าแน่นอน และไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะมีการปรับล่วงหน้า จะผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ และอิงตามต้นทุนทางการเงินของธนาคาร และยังไม่กำหนดอีกด้วยว่าจะมีการปรับปีละกี่ครั้ง เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้ผู้กู้อาจจะต้องชำระค่าผ่อนจ่ายไม่เท่ากันทุกเดือน อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ย่อมได้ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้

 

  • MLR (Minimum Loan Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำที่ธนาคารจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี มีประวัติการชำระเงินดี โดยส่วนใหญ่มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจ เพราะเป็นเงินกู้ระยะยาว และกำหนดระยะเวลาชัดเจน
  • MRR (Minimum Retail Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ธนาคารจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติการชำระเงินดี
  • MOR (Minimum Overdraft Rate) เรียกอีกชื่อว่าการเบิกเงินเกิน OD ใช้อ้างอิงสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี มีประวัติการเงินดี ประเภทมีวงเงินเบิกเกินบัญชี มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจเช่นกัน โดยธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่ออย่างเข้มงวด

 

3. อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage)

 

ดอกเบี้ยประเภทนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดอัตราคงที่ และจะปรับตามรอบเวลาที่แน่นอน เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในรอบเวลา 5 ปี แปลว่าในทุก 5 ปีจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ตลอดช่วงระยะเวลาการผ่อนชำระ 10–40 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการปรับดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยแบบนี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นได้

 

4. อัตราดอกเบี้ยแบบผสม (Rollover Mortgage Loan)

สินเชื่อบ้าน

 

นอกจากอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แบบลอยตัว และแบบปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลาแล้ว ยังมีอัตราดอกเบี้ยแบบผสมอีกด้วย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบผสมมาจากอัตราดอกเบี้ย 3 แบบข้างต้น เช่น ในช่วง 3 ปีแรก ธนาคารจะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราคงที่ ซึ่งอาจจะคงที่เท่าเดิมตลอด 3 ปี หรือคงที่ในรอบ 1 ปี และมีการปรับในปีที่ 2 และปีที่ 3 ก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดก็มักจะเป็นช่วง 3 ปีแรก และตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นลอยตัว โดยบางธนาคารอาจจะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเอาไว้ด้วย

 

 

วิธีการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบง่ายๆ นำไปใช้ได้จริง

การคำนวณอัตราดอกเบี้ยบ้าน

 

หลังจากทราบประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านกันไปแล้ว การรู้วิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนทางการเงินให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด จึงควรสอบถามกับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่สนใจโดยตรง เพื่อใช้ประกอบการคำนวณ โดยตัวอย่างวิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้านที่จะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น มีดังนี้

 

ตัวอย่างที่ 1

สมมติว่าเงินต้นทั้งหมด 2,500,000 บาท ผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี ชำระงวดแรกเดือนมกราคม และในปีนั้นมี 365 วัน

งวดที่ 1 (ชำระเดือนมกราคม)

ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี

 

= (2,500,000 x 5.00% x 31) ÷ 365 = 10,616.44 บาท

ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด

= 2,500,000 + 10,616.44 = 2,510,616.44 บาท

 

จากนั้นนำไปหักค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนแรกออก 25,000 บาท เมื่อสิ้นงวดแรกจะเหลือเงินต้นเท่ากับ 2,510,616.44 – 25,000 = 2,485,616.44 บาท

 

งวดที่ 2 (ชำระเดือนกุมภาพันธ์)

ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (2,485,616.44 x 5.00% x 28) ÷ 365 = 9,533.87 บาท

ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = 2,485,616.44 + 9,533.87 = 2,495,150.31 บาท

จากนั้นนำไปหักค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนที่สองออก 25,000 บาท

เมื่อสิ้นงวดสองจะเหลือเงินต้นเท่ากับ 2,495,150.31 – 25,000 = 2,470,150.31 บาท

 

ตัวอย่างที่ 2

การคำนวณดอกเบี้ย MRR สำหรับสินเชื่อบ้านเบื้องต้น โดยสมมติว่าวงเงินกู้ 2,500,000 บาท กำหนดว่า MRR เท่ากับ 7.00% และอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่อยู่ที่ 5.00% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ MRR-1.25%

คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับปีที่ 1 ที่อัตราดอกเบี้ย 5.00% = 2,500,000 x 5.00% = 125,000 บาท

อัตราดอกเบี้ยสำหรับปีที่ 2 = MRR-1.25% = 7.00% – 1.25% = 5.75%

ดังนั้น ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับปีที่ 2 = 2,500,000 x 5.75% = 143,750 บาท

 

 

หลักเกณฑ์สำคัญที่ธนาคารต้องพิจารณาก่อนอนุมัติคำขอสินเชื่อ

การประเมินให้สินเชื่อ

 

เมื่อรู้จักกับดอกเบี้ยและวิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้านกันไปมากขึ้นแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินจะมีหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการอนุมัติ รวมถึงวงเงินกู้ที่ธนาคารสามารถปล่อยให้ผู้กู้ได้ ปกติแล้วแต่ละธนาคารจะมีการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ ความสามารถในการผ่อนชำระ และหลักประกันสินเชื่อบ้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1. คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ

ธนาคารและสถาบันการเงินจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ โดยมักจะมีรายละเอียดคล้ายกันคือ จะต้องเป็นผู้มีอายุระหว่าง 20–70 ปี มีอาชีพที่รายได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น พนักงานประจำต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือเจ้าของกิจการต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งต้องมีเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้ที่ดี

นอกจากนี้ยังมีกรณีกู้ร่วม ธนาคารจะพิจารณาผู้กู้ร่วมด้วย จึงควรจะศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า นอกจากบุคคลในครอบครัว และคู่สมรสแล้ว ธนาคารอนุญาตให้กู้ร่วมกับบุคคลอื่นที่อยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขได้หรือไม่

 

2. ความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน

ไม่ใช่แค่เพียงรายรับของผู้กู้สินเชื่อ ธนาคารจะพิจารณาวงเงินกู้จากความมั่นคงของอาชีพ รวมถึงรายรับ และรายจ่ายที่เข้าออกบัญชี เพื่อประเมินความสามารถในการผ่อนชำระดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เพื่อให้ธนาคารมั่นใจว่าผู้ขอสินเชื่อจะสามารถชำระค่างวดได้ตลอดระยะเวลาในสัญญาเงินกู้

ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ธนาคารจะสามารถพิจารณายอดวงเงินกู้ที่ให้ได้อย่างเหมาะสม โดยมักจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 เท่าของรายได้ต่อเดือน เช่น ผู้ที่มีรายได้ 25,000 บาท ต่อเดือน จะกู้ได้วงเงินประมาณ 750,000 – 1,000,000 บาท ทั้งนี้ธนาคารจะต้องพิจารณาสัดส่วนเงินชำระต่องวดเมื่อเทียบกับรายได้ประกอบด้วย ซึ่งทั่วไปจะอยู่ที่ 40–80% ของรายได้ตามแต่เงื่อนไขของธนาคาร

 

3. หลักประกันสินเชื่อบ้าน

หลักประกันสินเชื่อบ้านเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารสามารถนำมาพิจารณาวงเงินกู้ได้เหมือนกัน โดยจะดูความเหมาะสมของหลักประกัน เช่น บ้าน ที่ดินเปล่า อาคารพาณิชย์ คอนโด โดยจะดูมูลค่าตลาดของหลักประกันนั้นๆ ด้วย โดยปกติแล้ววงเงินสินเชื่อสูงสุดจะประมาณ 70–95% ของราคาประเมิน หรือราคาตลาด แล้วแต่ว่าราคาไหนจะต่ำกว่ากัน

 

 

ข้อควรรู้ก่อนทำการขอสินเชื่อบ้านเพื่อซื้อบ้านใหม่

การขอสินเชื่อบ้าน

 

นอกจากการคำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม หลักเกณฑ์ที่ควรจะรู้ก่อนขอกู้ซื้อบ้าน ยังมีข้อควรระวังบางจุดที่ควรจะเตรียมตัวไว้ได้ดี เพื่อให้การขอสินเชื่อราบรื่น ไม่มีสะดุด สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามได้แก่

 

1. การเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอสินเชื่อบ้าน

ควรศึกษาเงื่อนไขการกู้อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การขอสินเชื่อผ่านได้ง่าย และเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ไว้ให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองเงินเดือน หลักฐานแสดงฐานะการเงิน เอกสารหลักประกัน หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร และอื่นๆ โดยอย่าลืมทำสำเนาเผื่อไว้ด้วย เผื่อจะต้องยื่นให้กับธนาคาร ก็จะทำได้เลยทันที ไม่ต้องหาร้านถ่ายเอกสารให้เสียเวลา

 

2. รู้จักวางแผนทางการเงินให้ดี

การวางแผนทางการเงินนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าวางแผนค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ให้ดี การขอสินเชื่อก็จะได้รับการอนุมัติไม่ยาก อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสที่การเงินจะสะดุดในระหว่างที่ผ่อนชำระอีกด้วย โดยมีเทคนิคการวางแผนการเงิน ดังนี้

  • ประเมินกำลังการจ่ายหนี้ผ่อนชำระของตัวเอง
  • เก็บเงินสดเผื่อไว้ และหาบ้านในวงเงินที่สามารถกู้ได้
  • ปิดบัญชีหนี้สินที่มีทั้งหมดก่อนกู้ หรือผ่อนชำระให้เหลือหนี้น้อยที่สุด
  • ทำประวัติเครดิตบูโร หรือประวัติการชำระหนี้ให้ดี
  • สร้างประวัติรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6–12 เดือน ให้มีเงินหมุนเวียนสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ
  • กรณีต้องการวงเงินสูงกว่าที่ขอได้ ลองหาผู้กู้ร่วมเพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้มากขึ้น แต่ไม่ควรเกินกำลังการจ่ายหนี้

 

3. สำรวจโครงการบ้านที่ต้องการก่อนซื้อ

นอกจากการหาโครงการบ้านในวงเงินที่สามารถกู้ได้แล้ว ควรต้องรู้จักโครงการบ้านที่ต้องการให้ดีก่อนซื้อ เพื่อให้ได้บ้านที่สวย ถูกใจ และไม่พบปัญหาต่างๆ ในภายหลัง โดยก่อนซื้อบ้านต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่าง เบื้องต้นมีอะไรบ้างที่ควรดูให้ดี ไปดูกัน

  • ทำเลที่ตั้ง สำรวจทำเลให้ดี เลือกผังที่ตั้งบ้านในโครงการให้รอบคอบ ว่าอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า ทางด่วน หรือการเดินทางสาธารณะสายไหนบ้าง
  • ผู้พัฒนาโครงการ เลือกผู้ประกอบการที่ไว้ใจได้ ใช้วัสดุก่อสร้าง และตกแต่งที่เหมาะสม รวมถึงเลือกโครงการที่มีพื้นที่ส่วนกลาง เหมาะสมกับค่าส่วนกลางที่ต้องเสียในแต่ละปี ทั้งพื้นที่พักผ่อน ระบบรักษาความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
  • ตรวจก่อนโอน ห้ามลืมการตรวจรับบ้านก่อนโอนในจุดที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นอกหรือในตัวบ้าน อย่างรั้ว ที่จอดรถ ผนังภายนอกและภายใน รวมถึงหลังคา ฝ้าเพดาน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา และตรวจสอบตัวโครงสร้างบ้านด้วย

 

4. เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจะช่วยลดภาระในการผ่อนชำระได้มากขึ้น เนื่องจากบางธนาคารอาจมีเงื่อนไขพิเศษ ที่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านลงไปได้ เช่น บางธนาคารเมื่อทำประกัน หรือสมัครผลิตภัณฑ์เสริมจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง หรือมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

 

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขในกรณีต่างๆ สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้กู้ควรต้องสอบถามทางธนาคารโดยตรง และนำมาเปรียบเทียบด้วยตนเอง

 

จะที่อยู่อาศัยแบบไหนก็เป็น “บ้าน” สำหรับทุกครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบไหน บ้าน ก็ถือเป็นสถานที่สำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุขในทุกวัน ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ก็อย่าลืมคำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านกันไว้ให้ดีก่อนยื่นกู้ และควรจะเลือกโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม คอนโดที่ตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมากที่สุด โดยดูที่ตัวบ้าน สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ส่วนกลางที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

Cr. https://www.apthai.com/th/blog/know-how/knowhow-home-loan-interest-rate


Spread the love