Spread the love

15 เคล็ดลับเปลี่ยนบ้านร้อนให้เย็นสบายได้อย่างง่ายๆ มีทั้งวิธีตามธรรมชาติ การเลือกผังอาคาร รูปทรงบ้าน และการเจาะช่องเปิดให้ถูกทิศ หากคุณกำลังมีปัญหาบ้านร้อนอยู่ละก็ มาดูกันเลยค่ะ

1 สร้างระบบระบายอากาศตามธรรมชาติ

การมีช่องเปิดที่บ้านชั้นล่างและหลังคาจะช่วยสร้างการระบายอากาศตามธรรมชาติ เพราะเมื่อภายในบ้านมีอุณหภูมิสูง มวลอากาศร้อนจะลอยขึ้นสูง ออกทางปล่องระบายอากาศบนหลังคา ส่วนอากาศเย็นก็จะไหลเข้ามาในบริเวณหน้าต่างชั้นล่างแทน

2 ออกแบบลมไหลเวียนภายในบ้าน

หากมีลานบ้านอยู่ทิศเหนือและทิศใต้ สามารถออกแบบให้ลานบ้านด้านใดด้านหนึ่งอยู่ใต้ร่มเงาเพื่อบรรจุความเย็นของอากาศไว้ให้มากที่สุด ลานอีกด้านก็ปล่อยให้ถูกแสงแดดมากที่สุด เพื่อสร้างความแตกต่างของอุณหภูมิอากาศ เมื่อพื้นลานรับความร้อนอย่างเต็มที่ อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น จากนั้นก็จะดึงอากาศเย็นให้ไหลผ่านเข้าไปในตัวบ้าน

3 เลือกสีทาอาคารให้เหมาะสม

ควรใช้สีโทนอ่อนทาภายนอกอาคาร เนื่องจากสีโทนอ่อนสะท้อนความร้อนดีกว่าสีเข้ม และป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคารได้มากกว่า ส่วนสีทาภายในควรเป็นสีอ่อน ทั้งเพดานและผนังห้อง โดยเน้นโทนเย็นเป็นสีหลัก เช่น สีฟ้า สีครีม หรือเทาอ่อน เป็นต้น เพราะเป็นสีที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย

4 วางผังบ้านให้ถูกทิศ

หากด้านยาวของบ้านวางตั้งฉากกับทิศเหนือจะเป็นช่องเปิดที่รับลมเข้าบ้านมากที่สุด และหากวางด้านแคบของบ้านหันหน้าเข้าทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก็จะช่วยจำกัดพื้นที่ ที่จะรับความร้อนได้ ในขณะเดียวกันด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกควรมีช่องเปิดน้อยที่สุด

5 ออกแบบรูปทรงบ้านให้เหมาะสม

อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นทรงที่ช่วยหลีกเลี่ยงแสงแดดได้ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นควรออกแบบบ้านให้โปร่ง โล่ง กั้นภายในอาคารแต่น้อย มีหลังคาสูง ลาดเอียง ช่วยบังแดดกับกันฝนได้ดียิ่งขึ้น

6 ปรับพื้นที่การใช้สอยในบ้านให้สอดคล้อง กับลมและแสงธรรมชาติ

  • ทิศตะวันออกเป็นทิศที่รับแดดช่วงเช้าตลอดทั้งปี จะร้อนในช่วงสาย และเย็นลงช่วงเย็น หากเป็นคนที่ตื่นเช้า เข้าทำงานออฟฟิศ ควรจัดห้องนอนไว้ที่ทิศตะวันออกมากที่สุด
  • ทิศตะวันตกจะได้รับแดดช่วงบ่ายตลอดปี ดังนั้นควรใช้เป็นห้องที่ใช้งานในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ห้องน้ำ ครัว ห้องเก็บของ หรือที่จอดรถ
  • ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดเกือบตลอดทั้งวัน และจะร้อนมากในตอนกลางวันและบ่าย ควรจัดทำเป็นห้องนอนและมีระเบียงยื่นยาว
  • ทิศเหนือจะได้ร่มเงาและเย็นเกือบตลอดปี ห้องไหนที่ใช้งานบ่อยๆ เหมาะสำหรับที่จะอยู่ทิศนี้ เช่น ห้องพักผ่อน ห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร และห้องรับแขก

7 ปลูกต้นไม้ช่วยบังแดดในบริเวณบ้าน

ช่วยดูดซับความร้อน เป็นร่มเงาให้บ้านและผู้อยู่อาศัยในตอนกลางวัน อีกทั้งยังช่วยสร้างออกซิเจนออกสู่บรรยากาศอีกด้วย

8 ตัดเล็มใบไม้ กิ่งไม้ที่ขวางทางลม และแต่งต้นไม้เพื่อช่วยนำลมเข้ามา

โดยต้องสำรวจทิศทางลมและตัดแต่งกิ่งไม้ใบไม้ที่บังทิศทางลม นอกจากนั้นยังสามารถตัดแต่งต้นไม้ เป็นแนวรั้วหรือเป็นแผงต้นไม้ เพื่อเปลี่ยนทิศทางลมได้ด้วย

9 เปิดทางให้ลมพัดผ่านเข้ามาในบ้านได้

ในหน้าร้อนลมพัดมาจากทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนหน้าหนาวลมจะพัดจากทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเราสามารถลดอุณหภูมิในบ้านได้ด้วยการเจาะช่องเปิดตามทิศทางลม ให้เกิดการไหลเวียนของลมและอากาศในบ้าน ทั้งนี้ควรเจาะช่องเปิดให้ลมออกด้วย

10 ใช้วัสดุมุงหลังคา ประเภทที่ไม่เป็นตัวนำความร้อน

ควรใช้วัสดุสีอ่อนบริเวณหลังคา-ผนังภายนอก ลดการดูดซับแสง และระหว่างหลังคากับฝ้าเพดานควรมีฉนวนกันความร้อน หรือมีช่องระบายอากาศใต้หลังคาก็จะช่วยลดความร้อนในบ้านได้

11 ติดตั้งฉนวนป้องกันความร้อน

บริเวณใต้หลังคาโดยอาจใช้แผ่นโฟมฉนวนกันความร้อน อลูมิเนียมฟอยล์ ฉนวนใยแก้ว และไม้อัด เป็นต้น หรือถ้าหากต้องการฉนวนจากธรรมชาติก็ประยุกต์โดยการปลูกเถาไม้เลื้อยปกคลุมผนัง หลังคา หรือทำเป็นระแนงได้เช่นกัน ซึ่งนอกจากจะป้องกันแสงแดดแล้ว ยังป้องกันฝุ่นและเก็บเสียงอีกด้วย ข้อสำคัญคือใช้เวลาค่อนข้างนานในการปลูก และต้องดูแลตัดเล็มกิ่งไม้อย่างพิถีพิถัน

12 ใช้หน้าต่างประเภทกันความร้อน

โดยใช้กระจกที่มีคุณสมบัติตัดแสง ไม่ดูดซึมความร้อน กระจกเคลือบผิวสะท้อนแสง หรือกระจกสองชั้นก็สามารถกันความร้อนได้ หรือวิธีการที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีกว่ากระจกตัดแสงหรือม่าน มู่ลี่ในอาคาร คือการใช้แผงบังแดดนอกอาคารและผนัง 2 ชั้น (Double Facade)

13 ยกพื้นสูงและยกใต้ถุนให้สูงโปร่ง

เป็นการป้องกันความชื้นจากดิน และหากออกแบบให้มีใต้ถุนโปร่ง ใต้อาคารก็จะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้น เพราะจะมีลมหมุนเวียนที่ใต้ถุนบ้านและบนบ้านนี่เอง

14 หลีกเลี่ยงลานคอนกรีต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลานบ้านที่อยู่ในทิศทางลมควรเป็นลานดิน สนามหญ้าหรือปลูกต้นไม้แทน เพราะลานคอนกรีตจะดูดซับความร้อนและจะกลายเป็นแหล่งผลิตความร้อนเข้ามาภายในบ้าน

15 ตึกแถวที่มีดาดฟ้าเป็นพื้นซิเมนต์ ให้ทำหลังคาครอบอีกชั้นหนึ่ง

วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดความร้อนให้บ้านแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์พื้นที่ดาดฟ้าได้มากขึ้นด้วย

Cr. https://www.home.co.th/hometips/topic-26124


Spread the love